JURIST 101
ข้อ ๑๒ การจัดทำพินัยกรรมด้วยวาจาตามมาตรา ๑๖๖๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ให้กรมการอำเภอบันทึกข้อความที่พยานนำมาแจ้งโดยมิชักช้า ถ้ากรมการอำเภอสงสัยว่าจะมิได้มีการทำพินัยกรรมด้วยวาจาขึ้นตามที่ได้รับแจ้งไว้ก็ดี หรือสงสัยว่าข้อความที่นำมาแจ้ง ไม่ตรงกับความจริงก็ดี ให้กรมการอำเภอสอบสวนเหตุการณ์และรายละเอียดอันอาจเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาถึงความถูกต้องและแท้จริงแห่งเนื้อความที่พยานนำมาแจ้งนั้น จัดทำเป็นบันทึกขึ้นไว้ประกอบเรื่องด้วย
พินัยกรรมที่ทำขึ้นตามมาตรา ๑๖๖๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ให้ยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดไว้ในอัตราแห่งกฎนี้
ข้อ ๑๓ การเก็บรักษาและส่งมอบพินัยกรรมที่ทำขึ้นตามมาตรา ๑๖๖๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้กรมการอำเภอปฏิบัติการตามความในข้อ ๖, ๘ และ ๙ แห่งกฎนี้เท่าที่สามารถจะทำได้
ข้อ ๑๔ ผู้ใดประสงค์จะแสดงเจตนาโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อ
(๑) ตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก หรือ
(๒) ถอนการตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก หรือ
(๓) สละมรดก
ให้ทำคำร้องแสดงความจำนงตามแบบของเจ้าพนักงานยื่นต่อกรมการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอใดในราชอาณาจักรก็ได้
ข้อ ๑๕ หนังสือแสดงเจตนาที่ประสงค์จะมอบไว้ตามข้อ ๑๔ นั้น ถ้าได้ทำไว้แล้ว ก็ให้ยื่นไปพร้อมกับคำร้อง แต่หนังสือนั้นจะต้องมี วัน เดือน ปีที่ทำ ภูมิลำเนาของผู้ทำและลงลายมือชื่อหรือมีเครื่องหมายอื่นแทนลายมือชื่อของผู้ทำหนังสือนั้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙ และมีความชัดเจนระบุชื่อทายาทโดยธรรมที่จะตัดหรือจะถอนการตัดมิให้รับมรดก หรือชื่อเจ้ามรดกที่ตนเจตนาสละมรดก แล้วแต่กรณี และถ้าเป็นหนังสือสละมรดกจะต้องไม่มีข้อความว่าสละเพียงบางส่วนหรือมีเงื่อนไขเงื่อนเวลาอย่างใด ๆ
ถ้าผู้แสดงเจตนาประสงค์จะให้กรมการอำเภอจัดทำหนังสือดังกล่าวแล้วให้ ก็ให้กรมการอำเภอจัดทำให้ โดยเรียกค่าธรรมเนียมตามอัตราท้ายกฎนี้
ข้อ ๑๖ เมื่อกรมการอำเภอได้รับมอบหนังสือแสดงเจตนาตัดหรือถอนการตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกหรือสละมรดกไว้จากผู้ใดแล้ว ให้ออกใบรับให้แก่ผู้นั้นไปฉบับหนึ่ง และให้มีต้นขั้วใบรับเก็บไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอเป็นหลักฐานด้วย
ข้อ ๑๗ เมื่อมีเหตุควรสงสัยว่าผู้ทำหนังสืออย่างใด ๆ ดังกล่าวไว้ในข้อ ๑๔ เป็นผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริต ให้นำความในกฎข้อ ๔ ว่าด้วยการทำพินัยกรรมมาปฏิบัติโดยอนุโลม
ในกรณีสละมรดก ถ้าปรากฏว่าผู้ทำหนังสือสละมรดกเป็นผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลผู้ไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๔ ให้กรมการอำเภอเรียกให้ผู้นั้นแสดงหลักฐานว่าผู้นั้นได้รับความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี และได้รับอนุมัติจากศาลแล้ว จึงรับมอบหนังสือนั้นไว้
ข้อ ๑๘ หนังสือตัดหรือถอนการตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก หรือสละมรดกนั้น ให้เป็นหน้าที่กรมการอำเภอจัดการเก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอโดยใช้ความระมัดระวัง เช่นเดียวกับการเก็บหนังสือสำคัญในราชการ
ข้อ ๑๙* ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ในที่ว่าการอำเภอ ฉบับละ ๕๐ บาท ถ้าจะทำเป็นคู่ฉบับ ๆ ละ ๑๐ บาท
(๒) ค่าทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง นอกที่ว่าการอำเภอ ฉบับละ ๑๐๐ บาท ถ้าจะทำเป็นคู่ฉบับ ๆ ละ ๒๐ บาท
(๓) ค่าทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับ ฉบับละ ๒๐ บาท
(๔) ค่าทำหนังสือตัด หรือถอนการตัดทายาทโดยธรรม มิให้รับมรดกหรือสละมรดก ฉบับละ ๒๐ บาท
(๕) ค่ารับมอบเก็บรักษาเอกสารที่ระบุไว้ใน (๔) ฉบับละ ๒๐ บาท
(๖) ค่าคัด และรับรองสำเนาพินัยกรรม หรือเอกสารที่ระบุไว้ใน (๔) ฉบับละ ๑๐ บาท
(๗) ค่าป่วยการพยานและล่าม ให้ได้แก่พยานและล่ามเฉพาะที่ทางอำเภอจัดหา โดยพิจารณาจ่ายตามรายได้ และฐานะของพยานและล่าม ซึ่งควรได้รับค่าป่วยการเมื่อมาอำเภอ ไม่เกินวันละ ๕๐ บาท
มาตรา ๑ ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
(๑) “ศาล” หมายความว่า ศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง
(๒) “คดี” หมายความว่า กระบวนพิจารณานับตั้งแต่เสนอคำฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้รับรอง คุ้มครองบังคับตามหรือเพื่อการใช้ซึ่งสิทธิหรือหน้าที่
(๓) “คำฟ้อง” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลไม่ว่าจะได้เสนอด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือ ไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลชั้นต้น หรือชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอหรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข หรือฟ้องแย้งหรือโดยสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าด้วยสมัครใจ หรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่
(๔) “คำให้การ” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ นอกจากคำแถลงการณ์
(๕) “คำคู่ความ” หมายความว่า บรรดาคำฟ้อง คำให้การหรือคำร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ
(๖) “คำแถลงการณ์” หมายความว่า คำแถลงด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งกระทำหรือยื่นต่อศาล ด้วยมุ่งหมายที่จะเสนอความเห็นต่อศาลในข้อความในประเด็นที่ได้ยกขึ้นอ้างในคำคู่ความหรือในปัญหาข้อใดที่ศาลจะพึงมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ซึ่งในข้อเหล่านี้คู่ความฝ่ายนั้นเพียงแต่แสดง หรือกล่าวทบทวนหรือยืนยันหรืออธิบายข้อความแห่งคำพยานหลักฐาน และปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้งปวง คำแถลงการณ์อาจรวมอยู่ในคำคู่ความ
(๗) “กระบวนพิจารณา” หมายความว่า การกระทำใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันเกี่ยวด้วยคดีซึ่งได้กระทำไปโดยคู่ความในคดีนั้นหรือโดยศาล หรือตามคำสั่งของศาลไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทำต่อศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือศาลทำต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย และรวมถึงการส่งคำคู่ความและเอกสารอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้
(๘) “การพิจารณา” หมายความว่า กระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่งก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง
(๙) “การนั่งพิจารณา” หมายความว่า การที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีเช่น ชี้สองสถาน สืบพยาน ทำการไต่สวน ฟังคำขอต่าง ๆ และฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา
(๑๐) “วันสืบพยาน” หมายความว่า วันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน
(๑๑) “คู่ความ” หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้นๆ ตามกฎหมาย หรือในฐานะทนายความ
(๑๒) “บุคคลผู้ไร้ความสามารถ” หมายความว่า บุคคลใดๆ ซึ่งไม่มีความสามารถตามกฎหมายหรือความสามารถถูกจำกัดโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสามารถ
(๑๓) “ผู้แทนโดยชอบธรรม” หมายความว่า บุคคลซึ่งตามกฎหมายมีสิทธิที่จะทำการแทนบุคคลผู้ไร้ความสามารถหรือเป็นบุคคลที่จะต้องให้คำอนุญาต หรือให้ความยินยอมแก่ผู้ไร้ความสามารถในอันที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
(๑๔)* "เจ้าพนักงานบังคับคดี" หมายความว่า เจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีหรือพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค ๔ แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ปฏิบัติการแทน
มาตรา ๒ ห้ามมิให้เสนอคำฟ้องต่อศาลใด เว้นแต่
(๑) เมื่อได้พิจารณาถึงสภาพแห่งคำฟ้องและชั้นของศาลแล้ว ปรากฏว่า ศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และ
(๒) เมื่อได้พิจารณาถึงคำฟ้องแล้ว ปรากฏว่าคดีนั้นอยู่ในเขตศาลนั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้อง และตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดเขตศาลด้วย
มาตรา ๓* เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง (๑) ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ
(๒) ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร
(ก) ถ้าจำเลยเคยมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกำหนดสองปีก่อนวันที่มีการเสนอคำฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย
(ข) ถ้าจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักรไม่ว่าโดยตนเองหรือตัวแทน หรือโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนดสองปีก่อนนั้น เป็นภูมิลำเนาของจำเลย
มาตรา ๔* เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(๑) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่
(๒) คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
มาตรา ๔ ทวิ* คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
มาตรา ๔ ตรี* คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้
มาตรา ๔ จัตวา* คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย
ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล
มาตรา ๔ เบญจ* คำร้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคล คำร้องขอเลิกนิติบุคคล คำร้องขอตั้งหรือถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล หรือคำร้องขออื่นใดเกี่ยวกับนิติบุคคล ให้เสนอต่อศาลที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในเขตศาล
มาตรา ๔ ฉ* คำร้องขอเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักรก็ดี คำร้องขอที่หากศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอนั้นจะเป็นผลให้ต้องจัดการหรือเลิกจัดการทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักรก็ดี ซึ่งมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรและผู้ร้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในเขตศาล
มาตรา ๕* คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้นไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้
มาตรา ๖* ก่อนยื่นคำให้การ จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่โจทก์ได้ยื่นคำฟ้องไว้ขอให้โอนคดีไปยังศาลอื่นที่มีเขตอำนาจได้ คำร้องนั้นจำเลยต้องแสดงเหตุที่ยกขึ้นอ้างอิงว่าการพิจารณาคดีต่อไปในศาลนั้นจะไม่สะดวก หรือจำเลยอาจไม่ได้รับความยุติธรรมเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้นก็ได้
ห้ามมิให้ศาลออกคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่ศาลที่จะรับโอนคดีไปนั้นได้ยินยอมเสียก่อน ถ้าศาลที่จะรับโอนคดีไม่ยินยอม ก็ให้ศาลที่จะโอนคดีนั้นส่งเรื่องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ขาด คำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
มาตรา ๗* บทบัญญัติในมาตรา ๔ มาตรา ๔ ทวิ มาตรา ๔ ตรี มาตรา ๔ จัตวา มาตรา ๔ เบญจ มาตรา ๔ ฉ มาตรา ๕ มาตรา ๖ และมาตรา ๖/๑ ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติดังต่อไปนี้
(๑) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดให้เสนอต่อศาลนั้น*
(๒)* คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๗๑
(๓) คำร้องตามมาตรา ๑๐๑ ถ้าได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดแล้ว ให้เสนอต่อศาลนั้นในกรณีที่ยังไม่ได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใด ถ้าพยานหลักฐานซึ่งจะเรียกมาสืบหรือบุคคลหรือทรัพย์หรือสถานที่ที่จะต้องตรวจอยู่ในเขตศาลใด ให้เสนอต่อศาลนั้น
(๔) คำร้องที่เสนอให้ศาลถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาตที่ศาลได้ให้ไว้ก็ดีคำร้องที่เสนอให้ศาลถอดถอนบุคคลใดจากฐานะที่ศาลได้แต่งตั้งไว้ก็ดี คำร้องที่เสนอให้ศาลมีคำสั่งใดที่เกี่ยวกับการถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาตหรือที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งเช่นว่านั้นก็ดีคำร้องขอหรือคำร้องอื่นใดที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปแล้วก็ดี ให้เสนอต่อศาลในคดีที่ได้มีคำสั่ง การอนุญาต การแต่งตั้ง หรือคำพิพากษานั้น