JURIST 101
มาตรา ๒๕๐ นายเรือผู้ใดไม่ตอบคำถามหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานศุลกากรตามมาตรา ๑๘๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
มาตรา ๒๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๘๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาของ แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๕๒ การกระทำความผิดตามมาตรา ๒๐๒ มาตรา ๒๔๒ หรือมาตรา ๒๔๔ ให้ผู้กระทำต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
มาตรา ๒๕๓ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย
มาตรา ๒๕๔ การประเมินราคาของเพื่อกำหนดค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือตามราคาแห่งของชนิดเดียวกันซึ่งได้เสียอากรครบถ้วนแล้วตามที่ซื้อขายในเวลาหรือใกล้เวลาที่กระทำความผิดนั้น เว้นแต่ไม่มีราคาดังกล่าวให้ถือตามราคาที่อธิบดีกำหนด
มาตรา ๒๕๕ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนและรางวัลตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ความผิดตามมาตรา ๒๔๒ มาตรา ๒๔๔ เฉพาะกรณีความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้ามและมาตรา ๒๔๖ ให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนและรางวัลร้อยละสี่สิบจากเงินค่าขายของกลาง โดยให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนร้อยละยี่สิบ และเป็นเงินรางวัลร้อยละยี่สิบ แต่กรณีที่มิได้ริบของกลางหรือของกลางไม่อาจจำหน่ายได้ให้หักจ่ายจากเงินค่าปรับ
(๒) ความผิดตามมาตรา ๒๐๒ มาตรา ๒๔๓ และมาตรา ๒๔๔ เฉพาะกรณีความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัดให้หักจ่ายเป็นเงินรางวัลร้อยละยี่สิบจากเงินค่าขายของกลาง แต่กรณีที่มิได้ริบของกลางหรือของกลางไม่อาจจำหน่ายได้ให้หักจ่ายจากเงินค่าปรับ
(๓) กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาด และเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบเป็นผลให้เรียกอากรเพิ่มเติมได้ ให้จ่ายเงินรางวัลร้อยละสิบของเงินอากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บเพิ่มเติมได้
เงินสินบนและรางวัลตาม (๑) และ (๒) ให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนได้ไม่เกินคดีละห้าล้านบาทและหักจ่ายเป็นเงินรางวัลได้ไม่เกินคดีละห้าล้านบาท และตาม (๓) ให้หักจ่ายเป็นเงินรางวัลได้ไม่เกินห้าล้านบาทต่อการตรวจพบ
มาตรา ๒๕๖ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕๗ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าบุคคลนั้นยินยอมใช้ค่าปรับ หรือได้ทำความตกลง หรือทำทัณฑ์บน หรือให้ประกันตามที่อธิบดีเห็นสมควรแล้วอธิบดีจะงดการฟ้องร้องเสียก็ได้ และให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในกรณีที่อธิบดีเห็นสมควรจะฟ้องบุคคลใดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้บันทึกเหตุผลในการฟ้องผู้กระทำความผิดไว้ด้วย
มาตรา ๒๕๗ ความผิดตามมาตรา ๒๒๗ มาตรา ๒๔๒ มาตรา ๒๔๓ มาตรา ๒๔๔ และมาตรา ๒๔๗ ถ้าราคาของกลางรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเกินกว่าสี่แสนบาท ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบมีอำนาจเปรียบเทียบได้
คณะกรรมการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกระทรวงการคลังและผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับหรือได้ทำความตกลง หรือทำทัณฑ์บน หรือให้ประกัน ตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๒๕๘ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากรตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา ๒๕๙ เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
(๑) ให้คลังสินค้าทัณฑ์บน ที่มั่นคง และเขตปลอดอากร ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ และดำเนินการอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นคลังสินค้าทัณฑ์บน ที่มั่นคง และเขตปลอดอากร ตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) ให้ทำเนียบท่าเรือที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ และดำเนินการอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นท่าเรือรับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
(๓) ให้คลังสินค้าและโรงพักสินค้าที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ และดำเนินการอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นโรงพักสินค้าตามพระราชบัญญัตินี้
ให้ผู้ดำเนินการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน คลังสินค้า โรงพักสินค้า ที่มั่นคง ทำเนียบท่าเรือ และเขตปลอดอากรตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร ยังคงดำเนินการต่อไปได้แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเสียค่าธรรมเนียมตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ผู้ดำเนินการตามวรรคสองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือไม่เสียค่าธรรมเนียมตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีเพิกถอนการจัดตั้งกิจการดังกล่าวโดยให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๓๔ และมาตรา ๑๓๕ มาใช้บังคับ
มาตรา ๒๖๐ บทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาในการนำ ของออกไปนอกราชอาณาจักรตามมาตรา ๑๐๒ วรรคสอง และมาตรา ๑๐๓ จะไม่นำมาใช้บังคับกับกรณีที่มีความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันไว้แล้ว
มาตรา ๒๖๑ ให้อธิบดีมีอำนาจพิจารณาสั่งจ่ายเงินสินบนหรือรางวัลในกรณีที่ตรวจพบการกระทำความผิดหรือตรวจพบการเก็บอากรขาดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๐๒ ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้ต่อไป
มาตรา ๒๖๒ บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่ง ที่ออกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๐ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๘) พุทธศักราช ๒๔๘๐ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๒ หรือพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ แล้วแต่กรณี ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง ตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
การดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งตามวรรคหนึ่งให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ
มาตรา ๒๒๔/๑* ถ้าลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เงินเป็นงวด และลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ในงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น
ข้อตกลงใดขัดกับความในวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒”
มาตรา ๒* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติในหมวด ๒ หมวด ๓ หมวด ๕ หมวด ๖ หมวด ๗ และความในมาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๖ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในกรณีที่มีกฎหมายว่าด้วยการใดบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในลักษณะใด กิจการใด หรือหน่วยงานใดไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้น เว้นแต่
(๑) บทบัญญัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้อง ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เป็นการเพิ่มเติม ไม่ว่าจะซ้ำกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการนั้นหรือไม่ก็ตาม
(๒) บทบัญญัติเกี่ยวกับการร้องเรียน บทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญออกคำสั่งเพื่อคุ้มครองเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้อง ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการนั้นไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการร้องเรียน
(ข) ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการนั้นมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนตามกฎหมายดังกล่าวออกคำสั่งเพื่อคุ้มครองเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล แต่ไม่เพียงพอเท่ากับอำนาจของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญตามพระราชบัญญัตินี้และเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวร้องขอต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลผู้เสียหายยื่นคำร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่
(๑) การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น
(๒) การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางการคลังของรัฐ หรือการรักษาความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นิติวิทยาศาสตร์ หรือการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
(๓) บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บรวบรวมไว้เฉพาะเพื่อกิจการสื่อมวลชน งานศิลปกรรม หรืองานวรรณกรรมอันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพหรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
(๔) สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา รวมถึงคณะกรรมาธิการที่แต่งตั้งโดยสภาดังกล่าว ซึ่งเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา หรือคณะกรรมาธิการ แล้วแต่กรณี
(๕) การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลและการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาคดี การบังคับคดี และการวางทรัพย์ รวมทั้งการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
(๖) การดำเนินการกับข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตและสมาชิกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต
การยกเว้นไม่ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนมาใช้บังคับแก่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลในลักษณะใด กิจการใด หรือหน่วยงานใดทำนองเดียวกับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นใด ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลตามวรรคหนึ่ง (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) และผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานที่ได้รับยกเว้นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสอง ต้องจัดให้มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย
มาตรา ๕ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยนั้น ได้กระทำในหรือนอกราชอาณาจักรก็ตาม
ในกรณีที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลอยู่นอกราชอาณาจักร พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรโดยการดำเนินกิจกรรมของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว เมื่อเป็นกิจกรรม ดังต่อไปนี้
(๑) การเสนอสินค้าหรือบริการให้แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะมีการชำระเงินของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ก็ตาม
(๒) การเฝ้าติดตามพฤติกรรมของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร
มาตรา ๖ ในพระราชบัญญัตินี้
“ข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ
“ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
“ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
“บุคคล” หมายความว่า บุคคลธรรมดา
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้