JURIST 101
มาตรา ๗๓ ในการตรวจสอบทรัพย์สิน ถ้าผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด หรือได้รับโอนทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าศาลจะยกคำร้องขอให้ริบทรัพย์สิน
เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทรัพย์สิน หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทรัพย์สินรายใดอาจมีการโอน ยักย้าย ซุกซ่อน หรือเป็นกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน มีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินรายนั้นไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีการวินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สิน ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ถูกตรวจสอบ หรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จะยื่นคำร้องขอผ่อนผันเพื่อขอรับทรัพย์สินนั้นไปใช้ประโยชน์โดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ และในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ให้นำความ ในมาตรา ๖๘ วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
เมื่อมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวแล้ว ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจัดให้มีการพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว และในกรณีที่ผู้ถูกตรวจสอบหรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินสามารถพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งได้ ก็ให้คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้นั้น แต่ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ ให้ถือว่าการยึด หรืออายัดตามวรรคสองเป็นการยึดหรืออายัดตามวรรคหนึ่ง
การยื่นคำร้องขอผ่อนผันตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนดในกฎกระทรวง
เพื่อประโยชน์ตามมาตรานี้ คำว่า “ทรัพย์สิน” ให้หมายความรวมถึง
(๑) ทรัพย์สินที่เปลี่ยนสภาพไป สิทธิเรียกร้อง ผลประโยชน์ และดอกผลจากทรัพย์สิน ดังกล่าว
(๒) หนี้ที่บุคคลภายนอกถึงกำหนดชำระแก่ผู้ต้องหา
(๓) ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้ต้องหาที่ได้ขาย จำหน่าย โอน หรือยักย้ายไปเสียในระหว่างระยะเวลาสิบปีก่อนมีคำสั่งยึดหรืออายัด และภายหลังนั้น เว้นแต่ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์จะพิสูจน์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ว่าการโอนหรือการกระทำนั้นได้กระทำไปโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน
มาตรา ๗๔ เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือเลขาธิการ ป.ป.ส. แล้วแต่กรณี ได้มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินใดแล้ว ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน และประเมินราคาทรัพย์สินนั้นโดยเร็วแล้วรายงานให้ทราบ
การยึดหรืออายัดทรัพย์สินและการประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๗๕ การเก็บรักษาทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือเลขาธิการ ป.ป.ส. แล้วแต่กรณี ได้มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดไว้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตรวจสอบ ทรัพย์สินกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ในกรณีที่ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เลขาธิการ ป.ป.ส. อาจสั่งให้นำทรัพย์สินนั้น ออกขายทอดตลาดหรือไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการแล้วรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทราบก็ได้
การนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดหรือการนำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
ถ้าความปรากฏในภายหลังว่าทรัพย์สินที่นำไปใช้ตามวรรคสองมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คืนทรัพย์สินนั้นพร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหาย และค่าเสื่อมสภาพตามจำนวนที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินกำหนด โดยใช้จากเงินกองทุนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ถ้าไม่อาจคืนทรัพย์สินได้ให้ชดใช้ราคาทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ประเมินได้ในวันที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือตามราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี
การประเมินค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๗๖ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาและสั่งตรวจสอบทรัพย์สิน หรือยึด หรืออายัดทรัพย์สินตามหมวดนี้ ให้กรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน อนุกรรมการเลขาธิการ ป.ป.ส. รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจมาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชีเอกสารหรือหลักฐานใด มาเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณา
(๒) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดซึ่งเกี่ยวข้องมาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชีเอกสาร หรือหลักฐานใดมาเพื่อตรวจสอบ หรือเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ รวมถึงการตรวจสอบข้อมูลจากธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ และสถาบันการเงินด้วย
(๓) เข้าไปในเคหสถาน สถานที่ หรือยานพาหนะใดที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีทรัพย์สินตามมาตรา ๗๓ ซุกซ่อนอยู่ เพื่อทำการตรวจค้น หรือเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ ยึด หรืออายัดทรัพย์สินในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากไม่ดำเนินการดังกล่าวในทันทีทรัพย์สินนั้นจะถูกยักย้ายก็ให้มีอำนาจเข้าไปในเวลากลางคืน
ในกรณีตาม (๓) ประธานกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ประธานอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน หรือเลขาธิการ ป.ป.ส. จะมอบหมายให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ปฏิบัติการแทนแล้วรายงาน ให้ทราบก็ได้
ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายตามวรรคสองต้องแสดงเอกสารมอบหมายต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องทุกครั้ง
มาตรา ๗๗ เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น โดยจะยื่นคำร้องไปพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใดๆ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ในกรณีที่พบว่ามีทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นอีกให้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินคดีได้เพราะไม่อาจจับตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้หรือเพราะเหตุที่ผู้ต้องหา หรือจำเลยรายใดถึงแก่ความตาย หรือพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำวินิจฉัย หรือในกรณีที่มีการยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ศาลพิจารณาคำร้องนั้นต่อไปได้ตามมาตรา ๘๒
มาตรา ๗๘ เมื่อศาลสั่งรับคำร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา ๗๗ แล้ว ให้ศาลสั่งให้เลขาธิการ ป.ป.ส. มีหนังสือแจ้งผู้ซึ่งอาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด โดยแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ครั้งหลังสุดของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏหลักฐานในสำนวนการสอบสวน กรณีที่ไม่อาจแจ้งตามวิธีการดังกล่าวได้ให้วางหรือปิดหนังสือนั้นไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ง่ายตามที่อยู่ดังกล่าวต่อหน้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ โดยให้ถือว่าผู้นั้นได้รับทราบ หรือได้รับแจ้งแล้ว
ค่าใช้จ่ายในการแจ้ง ให้จ่ายจากเงินของกองทุน
มาตรา ๗๙ ให้ศาลไต่สวนคำร้องที่พนักงานอัยการได้ยื่นต่อศาลตามมาตรา ๗๗ หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้นเว้นแต่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินดังกล่าวก่อนคดีถึงที่สุด และแสดงให้ศาลเห็นว่า
(๑) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด หรือ
(๒) ตนเป็นผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์และได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าปรากฏหลักฐานว่าจำเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบเป็นผู้เกี่ยวข้อง หรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาเงิน หรือทรัพย์สินที่ผู้นั้นมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะ หรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
กรณีที่ศาลไต่สวนแล้วมีมูลว่าทรัพย์สินรายการใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และศาลมีคำสั่งว่าทรัพย์สินรายการนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด แต่ไม่สามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินนั้นได้ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งแต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินนั้น
มาตรา ๘๐ ในกรณีที่ผู้ขอคืนทรัพย์สินตามมาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง ไม่ทราบว่าพนักงานอัยการได้มีคำร้องขอให้ศาลริบทรัพย์สินจนศาลได้มีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินนั้นแล้ว ผู้ขอคืนทรัพย์สินดังกล่าวอาจยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินต่อศาลได้ภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สิน
มาตรา ๘๑ ทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งให้ริบตามมาตรา ๗๙ วรรคหนึ่ง ให้ตกเป็นของกองทุน
มาตรา ๘๒ ในกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีผู้ต้องหาหรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องจำเลยรายใดให้ศาลไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการที่ขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินที่ได้ยื่นไว้ ตามมาตรา ๗๗ นั้นต่อไปได้ หากปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินในคดีนั้นเป็นทรัพย์สิน ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด
ทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากการกระทำความผิดของผู้ต้องหา หรือจำเลยรายนั้น ถ้าไม่มีผู้ใดมาขอรับคืนภายในห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องให้ตกเป็นของกองทุน
การขอรับทรัพย์สินคืนและการคืนทรัพย์สินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๘๓ ในกรณีที่ต้องคืนทรัพย์สินอย่างอื่นนอกจากเงินให้แก่เจ้าของแต่ไม่อาจคืนได้ให้ใช้ราคาทรัพย์สินแทนจากกองทุนตามราคาที่ประเมินได้ในวันยึดหรืออายัดทรัพย์สิน
มาตรา ๘๔ ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินพิจารณาพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบแล้ววินิจฉัยว่าผู้ถูกตรวจสอบได้รับทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าวเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนพร้อมส่งสำนวนการตรวจสอบทรัพย์สิน เอกสาร และพยานหลักฐานไปยังพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบมูลค่าของทรัพย์สินนั้น
การขอให้ศาลสั่งริบมูลค่าของทรัพย์สินและการไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการ ให้นำความในมาตรา ๗๗ มาตรา ๗๙ วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมาตรา ๘๒ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๘๕ กรณีที่ศาลไต่สวนแล้วมีมูลว่ามูลค่าของทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดที่ศาลสั่งริบนั้นไม่สามารถติดตามหรือตรวจสอบหาทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามมูลค่าดังกล่าวได้ ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลย หรือผู้ถูกตรวจสอบได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบนั้น
ในกรณีที่ต้องมีการบังคับคดีกับทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงาน ป.ป.ส. มีหน้าที่สืบหาทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องของจำเลยหรือผู้ถูกตรวจสอบเพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตามคำสั่งศาลโดยคำแนะนำของพนักงานอัยการ
การขอคืนมูลค่าของทรัพย์สิน ให้นำความในมาตรา ๘๐ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๘๗ ให้จัดตั้งกองทุนป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดขึ้นในสำนักงาน ป.ป.ส. มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด และติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษา
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษา วิจัย ทดสอบ ทดลอง ฝึกอบรม ประชุม หรือสัมมนาเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด
(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีความรู้หรือความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ฝึกอบรม ประชุม หรือสัมมนาเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด
(๔) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการให้บริการหรือจัดกิจกรรมอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติดตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาผู้ติดยาเสพติด ผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู และผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้
(๕) ส่งเสริมและสนับสนุนการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด ทั้งในประเทศและระดับต่างประเทศ
(๖) เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติด
(๗) กิจการอื่นที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดตามประมวลกฎหมายนี้
บุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนเงินในลักษณะเดียวกันจากกองทุนหมุนเวียนอื่นแล้ว ไม่มีสิทธิขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนนี้
มาตรา ๘๘ กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(๑) เงินและทรัพย์สินที่โอนมาจากกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติ มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔
(๒) ทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนตามมาตรา ๘๑ มาตรา ๘๒ มาตรา ๘๖ และมาตรา ๑๘๖
(๓) เงินและทรัพย์สินที่ได้จากการบริจาค
(๔) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับจากรัฐบาล
(๕) ผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์สินตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามวรรคหนึ่ง ไม่ต้องส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
มาตรา ๘๙ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. วางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารและการดำเนินการของกองทุนในเรื่อง ดังต่อไปนี้
(๑) การแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่ง และหน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการและการบริหารจัดการกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียน
(๒) การจัดหาผลประโยชน์ การจัดการ และการจำหน่ายทรัพย์สินของกองทุน
(๓) การรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน
(๔) ค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจำเป็นต้องจ่ายแก่หน่วยงาน บุคคลภายนอก พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การดำเนินงานตามประมวลกฎหมายนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลยิ่งขึ้นให้จ่ายจากกองทุน
(๕) การบริหารและการดำเนินการอื่นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนการวางระเบียบตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังด้วย
มาตรา ๙๐ ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๓๕ (๓)
มาตรา ๙๑ ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ หรือประเภท ๔ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๔ หรือมาตรา ๓๕ (๑) หรือ (๓)
มาตรา ๙๒ ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๓ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๕ (๒)