JURIST 101
มาตรา ๑๑๓ ผู้ใดยกเหตุว่าตนได้เสพยาเสพติดตามมาตรา ๑๖๒ หรือมาตรา ๑๖๓ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์เพื่อเสพตามมาตรา ๑๖๔ และได้สมัครใจขอเข้ารับ การบำบัดรักษาในสถานพยาบาลยาเสพติดก่อนที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ จะตรวจพบอีกทั้งได้ปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเป็นผู้ผ่านการบำบัดรักษาเป็นที่น่าพอใจจากหัวหน้าสถานพยาบาลยาเสพติด หรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ผู้นั้นไม่มีความผิดในมาตราดังกล่าว
มาตรา ๑๑๔ ในกรณีที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตรวจพบผู้ที่มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดตามมาตรา ๑๖๒ หรือมาตรา ๑๖๓ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดเพื่อเสพตามมาตรา ๑๖๔ ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นเป็นผู้ต้องหา หรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ไม่มีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นหรือสังคม หรือมีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น หรือสังคมที่เกิดจากโรคทางจิตและประสาท หรืออาการที่เกิดจากฤทธิ์ของยาเสพติดที่ใช้ และสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจส่งตัวผู้นั้นไปสถานพยาบาลยาเสพติดหรือศูนย์คัดกรองต่อไป
เมื่อผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาตามวรรคหนึ่งเข้ารับการบำบัดรักษาและปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนได้รับการรับรองเป็นหนังสือว่าเป็นผู้ผ่านการบำบัดรักษาเป็นที่น่าพอใจจากหัวหน้าสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ผู้นั้นไม่มีความผิดในมาตราดังกล่าว
หากผู้เข้ารับการบำบัดรักษาตามวรรคหนึ่งหลบหนีหรือไม่ให้ความร่วมมือในการบำบัดรักษา จนครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้สถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจัดทำประวัติ ข้อมูล และพฤติการณ์ของผู้หลบหนีหรือไม่ให้ความร่วมมือในการบำบัดรักษาดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาให้เข้ารับการบำบัดรักษาตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๑๑๕ เพื่อประโยชน์ในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจหรือค้นผู้มีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าเสพยาเสพติด
(๒) ยึดยาเสพติดจากผู้ครอบครองยาเสพติด
(๓) ตรวจ หรือทดสอบ หรือสั่งให้รับการตรวจ หรือทดสอบสารเสพติดในร่างกายของบุคคล เมื่อมีเหตุจำเป็นประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าบุคคลนั้นเสพยาเสพติดในเคหสถาน สถานที่ใดๆ หรือยานพาหนะ
(๔) สอบถามและตรวจสอบ เพื่อทราบชื่อ อาชีพ ที่อยู่ ประวัติ รายได้ และพฤติการณ์อื่น ของบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓)
(๕) สอบถามความสมัครใจและให้ลงนามสมัครใจหรือไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา
(๖) เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) และเพื่อส่งตัวผู้นั้นไปยังสถานพยาบาลยาเสพติด จะให้บุคคลนั้นอยู่ในความดูแลเป็นการชั่วคราวได้แต่ต้องไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลนั้นมีสารเสพติดอยู่ในร่างกาย
(๗) บันทึกพฤติการณ์แห่งการดำเนินการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) และส่งไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อเก็บไว้เป็นพยานหลักฐานในกรณีที่จะดำเนินคดีกับบุคคลนั้น
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกำหนดในกฎกระทรวง*
เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตำแหน่งใดหรือระดับใด จะมีหน้าที่และอำนาจตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๑๖ ให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดสถานที่ที่เป็นศูนย์คัดกรอง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้ศูนย์คัดกรองมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย
(๒) คัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด ภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพกาย หรือสุขภาพจิต
(๓) พิจารณาส่งต่อผู้เข้ารับการบำบัดรักษาไปยังสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
(๔) จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการคัดกรองและข้อมูลอื่นของผู้รับการคัดกรอง
มาตรา ๑๑๗ ให้สถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีหน้าที่ และอำนาจดำเนินการบำบัดรักษา หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพ ประเมินผล ติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง จัดทำและเก็บข้อมูลประวัติของผู้เข้ารับการบำบัดรักษา หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้งดำเนินการลดอันตรายจากยาเสพติด แล้วแต่กรณี
มาตรา ๑๑๘ ให้กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมติดตาม ดูแล ให้คำปรึกษา แนะนำ ให้ความช่วยเหลือ และสงเคราะห์แก่ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาตามมาตรา ๑๑๓ มาตรา ๑๑๔ และมาตรา ๑๖๙ เพื่อให้ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยได้รับบริการด้านสวัสดิการสังคม การสังคมสงเคราะห์ที่จำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งช่วยเหลือสนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวเพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยไม่กลับมากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีก
ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงาน ป.ป.ส. สนับสนุนและช่วยเหลือการดำเนินการของหน่วยงานตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การศึกษา การติดตามดูแลปัญหาด้านสุขภาพ และการให้การสงเคราะห์อื่นๆ
การฟื้นฟูสภาพทางสังคมตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวงโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
มาตรา ๑๑๙ ในการฟื้นฟูสภาพทางสังคมตามมาตรา ๑๑๘ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข หรือกรุงเทพมหานคร อาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือมอบหมายอาสาสมัครในพื้นที่ หรืออาจทำความตกลง เพื่อมอบหมายหรือส่งต่อให้ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน หรือองค์กรอื่น ที่ให้ความร่วมมือก็ได้
มาตรา ๑๒๐ ให้ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้คำแนะนำ ปรึกษา และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา
(๒) ให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม รวมทั้งการสนับสนุนผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่าน การบำบัดรักษาให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว
(๓) ช่วยเหลือเกี่ยวกับอาชีพ การศึกษา เงินทุนสงเคราะห์ และให้การสงเคราะห์อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพแก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา
(๔) ส่งเสริมและสนับสนุนให้นายจ้างหรือสถานประกอบการรับผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่าน การบำบัดรักษาเข้าทำงาน
(๕) ส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดรักษาและติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา
มาตรา ๑๒๑ ห้ามผู้ใดทำการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดเป็นปกติธุระโดยใช้ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือวัตถุออกฤทธิ์หรือยาเสพติดให้โทษตามประมวลกฎหมายนี้ หรือกระทำการบำบัดรักษา ยาเสพติดไม่ว่าโดยวิธีอื่นใด ซึ่งมิได้กระทำในสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติด ยาเสพติดตามที่กำหนดในประมวลกฎหมายนี้ ไม่ว่าจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่การให้ความรู้ ให้คำปรึกษา หรือให้คำแนะนำแก่ผู้ติด ยาเสพติดโดยไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทน
มาตรา ๑๒๒ ห้ามผู้ใดโฆษณาเกี่ยวกับการบำบัดรักษายาเสพติดหรือยินยอมให้ผู้อื่น กระทำการดังกล่าวโดยใช้ชื่อของตน หรือชื่อหรือที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลยาเสพติดหรือ สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของตน หรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพ ในสถานพยาบาลยาเสพติดหรือสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของตน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
การขออนุญาต การออกใบอนุญาต และเงื่อนไขในการโฆษณาตามใบอนุญาต ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่สถานพยาบาลของรัฐ
มาตรา ๑๒๓ ในกรณีที่ผู้อนุญาตเห็นว่าการโฆษณาใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๒ หรือมีการใช้ข้อความโฆษณาไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจออกคำสั่งอย่างใด อย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
(๑) ให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการในโฆษณา
(๒) ห้ามการใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฏในการโฆษณา
(๓) ห้ามการโฆษณาหรือห้ามใช้วิธีการใดในการโฆษณา
(๔) ให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้น
ในการออกคำสั่งตาม (๔) ให้ผู้อนุญาตกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการโฆษณาโดยคำนึงถึง ประโยชน์ของประชาชนกับความสุจริตใจในการกระทำของผู้ทำการโฆษณา
มาตรา ๑๒๔ ผู้ใดกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ถ้าปรากฏว่า
(๑) ผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
(๒) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าวและได้กระทำโดยประสงค์ให้ความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักรหรือรัฐบาลไทยเป็นผู้เสียหาย หรือ
(๓) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าวและการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐ ที่การกระทำเกิดขึ้นในเขตอำนาจของรัฐนั้น หากผู้นั้นได้ปรากฏตัวอยู่ในราชอาณาจักร และมิได้มีการส่งตัวผู้นั้นออกไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา ๑๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๒๕ ในความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
(๑) สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด
(๒) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่ หรือวัตถุใดๆ เพื่อประโยชน์ หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ
(๓) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือ หรือ ให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการถูกจับกุม
(๔) รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กระทำความผิดเพื่อประโยชน์ หรือ ให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ
(๕) ปกปิด ซ่อนเร้น หรือเอาไปเสียซึ่งยาเสพติดหรือวัตถุใดๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิด เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิด
(๖) ชี้แนะหรือติดต่อบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิด
ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมาย กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
มาตรา ๑๒๖ ผู้ใดพยายามกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษตามที่ กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ
มาตรา ๑๒๗ ผู้ใดสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้นั้นสมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท
ถ้าได้มีการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ในกรณีที่การกระทำตามวรรคหนึ่งมีลักษณะเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม ผู้กระทำ ความผิดต้องระวางโทษสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คำว่า “องค์กรอาชญากรรม” หมายความว่า คณะบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปที่รวมตัวกันช่วงระยะเวลาหนึ่งและร่วมกันกระทำการใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำ ความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ ทางวัตถุอย่างอื่น
มาตรา ๑๒๘ ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังบังคับ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใดให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือ มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา ๑๒๙ ผู้ใดยอมให้ผู้อื่นใช้ชื่อ เอกสาร หลักฐานของตน ในการเปิด จด หรือ ลงทะเบียนทำธุรกรรมทางการเงิน ซื้อสินค้าหรือบริการอื่นใด ยอมให้ใช้บัญชีธนาคาร บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซิมการ์ดโทรศัพท์ หรือยอมให้ผู้อื่นใช้สิ่งเช่นว่านั้น ซึ่งตนได้เปิด จด หรือลงทะเบียนไว้แล้ว โดยรู้ หรือควรรู้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๓๐ ผู้ใดรู้หรืออาจรู้ความลับในทางราชการเกี่ยวกับการดำเนินการตามประมวล กฎหมายนี้ กระทำด้วยประการใดๆ ให้ผู้อื่นรู้หรืออาจรู้ความลับดังกล่าว เว้นแต่เป็นการปฏิบัติการ ตามหน้าที่หรือตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๓๑ ห้ามผู้ใดเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ส่งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ซึ่งถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้มาโดยคำสั่งอนุญาตของศาลอาญาตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติด เว้นแต่เป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล
ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำโดยกรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการ ป.ป.ส. รองเลขาธิการ ป.ป.ส. หรือเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง
มาตรา ๑๓๒ ผู้ใดกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดโดยแต่งเครื่องแบบ หรือโดยแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นเจ้าพนักงาน ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานอื่นของรัฐ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นอีกกึ่งหนึ่ง