JURIST 101
มาตรา ๙๓ ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๕ วรรคหนึ่ง (๔) หรือวรรคสอง
มาตรา ๙๔ ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือนำผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๓๕ (๕)
มาตรา ๙๕ ห้ามผู้รับอนุญาตผู้ใดดำเนินการผลิตหรือจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ ในระหว่างที่เภสัชกรมิได้อยู่ประจำควบคุมกิจการ
มาตรา ๙๖ ห้ามผู้ใดจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปหรือจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ และยารวมกันหลายขนานโดยจัดเป็นชุดไว้ล่วงหน้าเพื่อประโยชน์ทางการค้า
มาตรา ๙๗ ห้ามผู้ใดผลิตหรือนำเข้าสารระเหยโดยก่อนนำออกจำหน่ายไม่จัดให้มีภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุสารระเหยเพื่อเป็นการเตือนให้ระวังการใช้สารระเหยดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๙๘ ห้ามผู้ใดจำหน่ายสารระเหยโดยไม่มีภาพ เครื่องหมาย หรือข้อความที่ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าสารระเหยต้องจัดให้มีที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุตามมาตรา ๙๗ อยู่ครบถ้วน
มาตรา ๙๙ ห้ามผู้ใดจำหน่ายหรือจัดหาสารระเหยให้แก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี เว้นแต่เป็นการจำหน่ายหรือจัดหาโดยสถานศึกษาเพื่อใช้ในการเรียนการสอน
มาตรา ๑๐๐ ห้ามผู้ใดจำหน่ายหรือจัดหาสารระเหยให้แก่ผู้ซึ่งตนรู้หรือควรรู้ว่าเป็นผู้ติดสารระเหย
มาตรา ๑๐๑ ห้ามผู้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับตามมาตรา ๔๙ ผลิตหรือนำเข้าตำรับ ยาเสพติดให้โทษหรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ไม่ตรงตามรายการที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับไว้
มาตรา ๑๐๒ ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษหรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๔๙ แต่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษหรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์
มาตรา ๑๐๓ ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาเสพติดให้โทษหรือตำรับวัตถุออกฤทธิ์ตามมาตรา ๕๑
มาตรา ๑๐๔ ห้ามผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ หรือเสพวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ เว้นแต่การเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๒ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ เพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม หรือการเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดตามมาตรา ๕๘ เพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัย
มาตรา ๑๐๖ ห้ามผู้ใดจูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริม ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังบังคับ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใดให้ผู้อื่นเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ วัตถุออกฤทธิ์ หรือสารระเหย
ผู้ประกอบวิชาชีพดังต่อไปนี้ อาจจูงใจหรือชักนำให้ผู้อื่นเสพยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ เพื่อการรักษาพยาบาลได้
(๑) ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมสำหรับยาเสพติดให้โทษ ในประเภท ๒ หรือประเภท ๓ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ หรือสำหรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ตามมาตรา ๕๘
(๒) ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สำหรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดตามมาตรา ๕๘
มาตรา ๑๐๗ ห้ามผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ เพื่อเสพ การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๕ หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ ในปริมาณเล็กน้อยซึ่งไม่เกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง* ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ
มาตรา ๑๐๘ ในภาคนี้
“ติดยาเสพติด” หมายความว่า เสพเป็นประจำติดต่อกันและตกอยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องพึ่งยาเสพติดนั้น โดยสามารถตรวจพบสภาพเช่นว่านั้นได้ตามหลักวิชาการ
“การบำบัดรักษา” หมายความว่า การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ซึ่งรวมตลอดถึงการคัดกรอง การประเมินความรุนแรง การบำบัดด้วยยา การฟื้นฟูสมรรถภาพ การลดอันตรายจากยาเสพติด และการติดตามหลังการบำบัดรักษา
“การฟื้นฟูสมรรถภาพ” หมายความว่า การกระทำใดๆ อันเป็นการบำบัดพฤติกรรมการเสพยาเสพติด และฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ติดยาเสพติดให้กลับคืนสู่สภาพปกติ
“การฟื้นฟูสภาพทางสังคม” หมายความว่า การกระทำใดๆ อันเป็นการสงเคราะห์สนับสนุนให้ผู้ติดยาเสพติด หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษาได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา อาชีพ ตลอดจนการติดตามดูแลช่วยเหลือจนสามารถกลับมาดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
“สถานพยาบาลยาเสพติด” หมายความว่า โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกำหนดให้เป็นสถานที่ทำการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
“สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด” หมายความว่า สถานพยาบาล สถานฟื้นฟู หรือสถานที่อื่นใดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดกำหนดให้เป็นสถานที่ทำการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
“ศูนย์คัดกรอง” หมายความว่า สถานที่คัดกรองการใช้ยาเสพติด
“ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม” หมายความว่า สถานที่ทำการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา
“ผู้อนุญาต” หมายความว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข
มาตรา ๑๐๙ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด” ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เลขาธิการ ป.ป.ส. เลขาธิการ อย. ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งจำนวนสามคน ในจำนวนนี้ให้แต่งตั้งจากผู้แทนองค์กรเอกชนซึ่งเกี่ยวข้องกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติดอย่างน้อยหนึ่งคน*
ให้รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข จำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดอาจมีมติให้เชิญปลัดกระทรวง หรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการบำบัดรักษาหรือการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวในฐานะกรรมการด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้ซึ่งได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นกรรมการตามวรรคหนึ่งสำหรับการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น
มาตรา ๑๑๐ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด รับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม การศึกษา และ กิจการต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
มาตรา ๑๑๑ ให้คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้คำแนะนำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงตามภาคนี้
(๒) กำหนดนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
(๓) กำหนดแนวทางและการดำเนินการด้านการพัฒนางานวิชาการ มาตรฐาน และคุณภาพ การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
(๔) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งและการรับรองคุณภาพศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม*
(๕) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดกรอง การบำบัดรักษา การฟื้นฟู สมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และการประเมินผลการบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด*
(๖) กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับเพื่อควบคุมการบำบัดรักษาและระเบียบวินัยสำหรับศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด*
(๗) ให้ความเห็นชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการฟื้นฟูสภาพทาง สังคม และติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา*
(๘) กำกับ ติดตาม ดูแล ให้คำปรึกษา และแนะนำหน่วยงานในพื้นที่ในการให้ ความช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา
(๙) วางแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคม การสังคม สงเคราะห์ที่จำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษาซึ่งไม่มีที่อยู่อาศัยให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้
(๑๐) วางแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานในการช่วยเหลือเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การศึกษา เงินทุนสงเคราะห์ และการให้การสงเคราะห์อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพแก่ผู้ติดยาเสพติด หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา
(๑๑) สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจ้างงานหรือการประกอบอาชีพแก่ผู้ติดยาเสพติด หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา
(๑๒) กำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษา
(๑๓) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่มอบหมาย
(๑๔) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
มาตรา ๑๑๒ ให้นำความในมาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดด้วยโดยอนุโลม