JURIST 101
มาตรา ๖* ให้ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของตน
กฎกระทรวงหรือระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๗ ในกรณีจําเป็นและเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าพนักงานผู้ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี มีอํานาจปฏิบัติการอําพรางเพื่อการสืบสวนความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
การอําพราง หมายความว่า การดําเนินการทั้งหลายเพื่อปิดบังสถานะหรือวัตถุประสงค์ของการดําเนินการโดยลวงผู้อื่นให้เข้าใจไปทางอื่น หรือเพื่อมิให้รู้ความจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน
ในกรณีจําเป็นเร่งด่วนและมีเหตุอันสมควร ให้เจ้าพนักงานมีอํานาจปฏิบัติการอาพรางเพื่อการสืบสวนความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดไปก่อนแล้วรายงานผู้มีอํานาจอนุญาตตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว
การอนุญาตและการอําพรางตามวรรคหนึ่ง รวมทั้งการดําเนินการตามวรรคสามให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ในกฎกระทรวงดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบการใช้อํานาจด้วย
การกระทําและพยานหลักฐานที่ได้มาจากการอําพรางของเจ้าพนักงานตามมาตรานี้ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
มาตรา ๘ ในกรณีจําเป็นและเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานผู้ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณี มีอํานาจครอบครองหรือให้มีการครอบครองยาเสพติดภายใต้การควบคุมทั้งในและนอกราชอาณาจักรเพื่อการสืบสวนความผิดตาม กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดได้
ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นผู้ดํารงตําแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนั้น โดยในการมอบหมายให้คํานึงถึงระดับความรับผิดชอบของผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย
การครอบครองยาเสพติดภายใต้การควบคุม หมายความว่า การครอบครองชั่วคราวซึ่งยาเสพติดเพื่อส่งต่อแก่ผู้ต้องสงสัยว่ากระทําความผิดซึ่งอยู่ภายใต้การกํากับ คําสั่ง หรือการสะกดรอยติดตามของเจ้าพนักงาน ทั้งนี้ การส่งต่อนั้นให้รวมถึงการนําเข้าหรือส่งออกเพื่อการส่งต่อในหรือนอกราชอาณาจักรด้วย
การขออนุญาต การอนุญาต การครอบครอง ระยะเวลาในการครอบครองหรือการให้มีการครอบครองยาเสพติดภายใต้การควบคุม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ในกฎกระทรวงดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบการใช้อํานาจด้วย
การกระทําและพยานหลักฐานที่ได้มาจากการกระทําของเจ้าพนักงานตามมาตรานี้ ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
มาตรา ๙ ในกรณีที่เจ้าพนกงานขอให้บุคคลใดซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเฉพาะในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้บุคคลนั้นไม่ต้องรับผิดทางแพ่งเป็นการส่วนตัวในบรรดาความเสียหายที่เกิดขึ้น เว้นแต่จะได้กระทําด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ
มาตรา ๑๐ ในกรณีจําเป็นและเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าพนักงานอาจร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ดําเนินการให้ได้มาซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดและการดําเนินคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้รับการร้องขอดังกล่าว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจดําเนินการตามคําร้องขอโดยปฏิบัติตามวิธีการในกฎหมายดังกล่าว
เจ้าพนักงานผู้ใดเปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ได้มาตามวรรคหนึ่งให้แก่บุคคลอื่นอันมิใช่เพื่อประโยชน์ในการดําเนินคดีกับผู้กระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู็อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
มาตรา ๑๑ ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามที่กําหนดในกฎกระทรวง ซึ่งพนักงานสอบสวน ได้ยึดสิ่งของไว้ตามกฎหมายและอ้างว่าเป็นยาเสพติด ให้พนักงานสอบสวนส่งสิ่งของที่ยึดนั้นภายในสามวันทําการนับแต่เวลาที่พนักงานสอบสวนได้รับสิ่งของนั้นไว้เป็นของกลางในคดี เพื่อให้ผู้ชํานาญการพิเศษตรวจพิสูจน์และทําความเห็นเป็นหนังสือรวมไว้ในสํานวนการสอบสวน เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจําเป็นอย่างอื่นที่ไม่อาจส่งสิ่งของที่ยึดนั้นภายในกําหนดเวลาดังกล่าวได้ โดยให้บันทึกเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นที่ไม่อาจดําเนินการดังกล่าวไว้ในสํานวนการสอบสวนด้วย
มาตรา ๑๑/๑ เพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้กรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้นเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามียาเสพติด หรือมีบุคคลซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
(๒) ค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(๓) ค้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(๔) จับกุมบุคคลใดๆ ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
(๕) ยึดหรืออายัดยาเสพติดที่มีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือที่ได้รับมาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้
(๖) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นกรณีเร่งด่วน ก่อนดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินแล้วรายงานให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภายในเจ็ดวันเพื่อดำเนินการตาม (๗) ต่อไป
(๗) ตรวจสอบทรัพย์สิน ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายยาเสพติดหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมอบหมาย แล้วแต่กรณี
(๘) สอบสวนผู้ต้องหาในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
(๙) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดๆ หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการใดๆมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งบัญชี ข้อมูล เอกสาร หรือวัตถุใดๆ มาเพื่อตรวจสอบหรือประกอบการพิจารณา
การใช้อำนาจตามวรรคหนึ่ง (๑) ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ค้นปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กำหนด และแสดงความบริสุทธิ์ก่อนการเข้าค้น รายงานเหตุผล และผลการตรวจค้นเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป และบันทึกเหตุอันควรสงสัยตามสมควรและเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้สามารถเข้าค้นได้เป็นหนังสือให้ไว้แก่ผู้ครอบครองเคหสถาน หรือสถานที่ค้น แต่ถ้าไม่มีผู้ครอบครองอยู่ ณ ที่นั้น ให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ค้นส่งมอบสำเนาหนังสือนั้นให้แก่ผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทำได้ และหากเป็นการเข้าค้นในเวลากลางคืนภายหลังพระอาทิตย์ตก เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้เป็นหัวหน้าในการเข้าค้นต้องเป็นข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทบริหารตำแหน่งประเภทอำนวยการ ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการขึ้นไป ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโสขึ้นไป หรือข้าราชการตำรวจตำแหน่งตั้งแต่สารวัตรหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือข้าราชการทหารตำแหน่งตั้งแต่ผู้บังคับกองร้อยหรือเทียบเท่าขึ้นไป
เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตำแหน่งใดหรือระดับใดจะมีหน้าที่และอำนาจตามที่ได้กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่งทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือจะต้องได้รับอนุมัติจากบุคคลใดก่อนดำเนินการ ให้เป็นไปตามที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. โดยทำเอกสารมอบหมายให้ไว้ประจำตัวเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายนั้น
เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องแสดงเอกสารมอบหมายนั้น ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง
ในการปฏิบัติการตามมาตรานี้ ให้กรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรานี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี โดยให้รายงานข้อเท็จจริง ปัญหาอุปสรรค ปริมาณการปฏิบัติงานตามงบประมาณและกองทุนประจำปี และผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานโดยละเอียด เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเสนอรายงานดังกล่าวพร้อมข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
มาตรา ๑๑/๒* ในกรณีจำเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพยาเสพติด ในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ หรือยานพาหนะ ให้กรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. มีอ านาจตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้น มีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่
วิธีการตรวจหรือทดสอบตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๑/๓* ในกรณีที่มีการยึดยาเสพติดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น ไม่ว่าจะมีการฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่ก็ตาม เมื่อได้มีการตรวจพิสูจน์ชนิดและปริมาณแล้วว่าเป็นยาเสพติด โดยบันทึกรายงานการตรวจพิสูจน์ไว้และให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) กรณีที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ หรือประเภท ๓ หรือวัตถุออกฤทธิ์ที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ ให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทำลาย หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ (๒) กรณีที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๔ หรือประเภท ๕ หรือสารระเหยที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ ให้พนักงานสอบสวนทำลายหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้
(๓) ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ยึดไว้ให้สถานตรวจพิสูจน์คืนพนักงานสอบสวน
การตรวจรับ การเก็บรักษา การทำลาย การนำไปใช้ประโยชน์ และการรายงาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๑/๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ตามมาตรา ๑๑/๑ หรือมาตรา ๑๑/๒ ถ้าเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้ขอให้บุคคลใดช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ให้บุคคลนั้น มีอำนาจช่วยการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้
มาตรา ๑๑/๕* ในกรณีจำเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเอกสารหรือข้อมูลข่าวสารอื่นใด ซึ่งส่งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติดเป็นหนังสือจะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลอาญา เพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้
การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิอื่นใด ประกอบกับเหตุผลและความจำป็น ดังต่อไปนี้
(๑) มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดหรือจะมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
(๒) มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะได้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าว
(๓) ไม่อาจใช้วิธีการอื่นใดที่เหมาะสมหรือมีประสิทธิภาพมากกว่าได้
การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลสั่งอนุญาตได้คราวละไม่เกินเก้าสิบวัน โดยกำหนดเงื่อนไขใดๆก็ได้ และให้ผู้เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารในสิ่งสื่อสารตามคำสั่งดังกล่าวจะต้องให้ความร่วมมือเพื่อให้เป็นไปตามความในมาตรานี้ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ภายหลังที่มีคำสั่งอนุญาต หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุผลความจำเป็นไม่เป็นไปตามที่ระบุหรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งอนุญาตได้ตามที่เห็นสมควร เมื่อเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้ดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว ให้รายงานการดำเนินการให้ศาลทราบ บรรดาข้อมูลข่าวสารที่ได้มาตามวรรคหนึ่ง ให้เก็บรักษาและใช้ประโยชน์ในการสืบสวนและใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีเท่านั้น ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กำหนด* โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๑/๖ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามมาตรา ๑๑/๑ ให้ถือว่ากรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอำนาจตามมาตรา ๑๑/๑ (๔) มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร และให้มีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับตามมาตรา ๑๑/๑ (๔) ซึ่งกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวหรือก่อนนั้นตามที่จะเห็นสมควร ให้ส่งตัวผู้ถูกจับไปยังพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าวเป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การควบคุมผู้ถูกจับตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๑/๗* การแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๒๕ หรือมาตรา ๑๒๗ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ต้องได้รับอนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือผู้ที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมอบหมาย เว้นแต่กรณีที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีแล้วพนักงานอัยการเห็นควรแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๒๕ หรือมาตรา ๑๒๗ แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดเพิ่มเติม ให้พนักงานอัยการเป็นผู้อนุมัติให้แจ้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีตามมาตรานี้ และเมื่อดำเนินการตามที่ได้รับ อนุมัติแล้ว ให้พนักงานสอบสวนรายงานให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทราบทันที
การขออนุมัติ การอนุมัติ และการรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๒ ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งจําเลยมีทนายความ ถ้าปรากฏว่าจําเลยคนใดจงใจไม่มาศาลหรือหลบหนี และมีความจําเป็นเพื่อมิให้พยานหลักฐานสูญหายหรือยากแก่การนํามาสืบในภายหลัง เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควรก็ให้ศาลมีอํานาจสืบพยานหลักฐานลับหลังจําเลย แต่ต้องให้โอกาสทนายความของจําเลยที่จะถามค้านและนําสืบหักล้างพยานหลักฐานนั้นได้
มาตรา ๑๓ ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าจําเลยไม่ได้กระทําความผิดหรือคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จําคุกตลอดชีวิตหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟ้งพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลยได้กระทําผิดจริง
มาตรา ๑๔ ให้จัดตั้งแผนกคดียาเสพติดขึ้นในศาลอุทธรณ์ โดยให้มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่มีการอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลชั้นต้นและตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๕ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา ๑๖ คดีอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้ อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นให้ คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง
เมื่อศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับอุทธรณ์หรือเมื่อมีการยื่นคําร้องอุทธรณ์คําสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์หรือคําร้องเช่นว่านั้นพร้อมสํานวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งโดยเร็ว
มาตรา ๑๕/๑* ในกรณีที่ตามคำพิพากษาจำเลยต้องรับโทษจำคุกหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น และจำเลยไม่ได้ถูกคุมขัง จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ทั้งนี้ ประธานศาลฎีกาอาจออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงตนของจำเลยก็ได้
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่จำเลยได้รับการรอการลงโทษจำคุก หรือรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว
มาตรา ๑๖ คดีท่ีศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตหรือจําคุกตลอดชีวิตเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คําพิพากษา ให้ศาลชั้นต้นส่งสํานวนและคําพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๗ ในคดีที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําผิดหลายกรรมต่างกัน และกรรมใดกรรมหนึ่ง เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หากมีการอุทธรณ์ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพร้อมความผิดอื่น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และให้ศาลอุทธรณ์มีอํานาจพิจารณาพิพากษาในความผิดอื่นซึ่งมิใช่ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย