JURIST 101
มาตรา ๓๑ เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๐ แล้ว ให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา ๒๕ (๕)
(๒) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีอาญาตามมาตรา ๒๕ (๕) แล้วเห็นว่าควรพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าว
(๓) กรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งคดีแพ่งเรื่องใดของศาลนั้นจะต้องกระทำโดยองค์คณะซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาหลายคน และผู้พิพากษาในองค์คณะนั้นมีความเห็นแย้งกันจนหาเสียงข้างมากมิได้
(๔) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา ๒๕ (๔) ไปแล้ว ต่อมาปรากฏว่าราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว
มาตรา ๓๒ ให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีในแต่ละศาล แล้วแต่กรณี รับผิดชอบในการจ่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะผู้พิพากษาในศาลหรือในแผนกคดีนั้น โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม
การออกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความเชี่ยวชาญและความเหมาะสมขององค์คณะผู้พิพากษาที่จะรับผิดชอบสำนวนคดีนั้น รวมทั้งปริมาณคดีที่องค์คณะผู้พิพากษาแต่ละองค์คณะรับผิดชอบ
มาตรา ๓๓ การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์คณะผู้พิพากษาใด ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น และรองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น แล้วแต่กรณี ที่มิได้เป็นองค์คณะในสำนวนคดีดังกล่าวได้เสนอความเห็นให้กระทำได้*
ในกรณีที่รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น แล้วแต่กรณี ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ หรือได้เข้าเป็นองค์คณะในสำนวนคดีที่เรียกคืนหรือโอนนั้น ให้รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษา ที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับในศาลนั้น เป็นผู้มีอำนาจในการเสนอความเห็นแทน ในกรณีที่รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น มีหนึ่งคน หรือมีหลายคนแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือได้เข้าเป็นองค์คณะในสำนวนคดีที่เรียกคืนหรือโอนนั้นทั้งหมด ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดของศาลนั้นเป็นผู้มีอำนาจในการเสนอความเห็น*
ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจในการเสนอความเห็นตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง
ในกรณีที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะผู้พิพากษามีคดีค้างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลนั้นล่าช้า และผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะผู้พิพากษานั้นขอคืนสำนวนคดีที่ตนรับผิดชอบอยู่ ให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี มีอำนาจรับคืนสำนวนคดีดังกล่าว และโอนให้ผู้พิพากษาหรือองค์คณะผู้พิพากษาอื่นในศาลนั้นรับผิดชอบแทนได้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ ”
มาตรา ๒* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“ปรับเป็นพินัย” หมายความว่า สั่งให้ผู้กระทำความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินที่กฎหมายกำหนด
“ความผิดทางพินัย” หมายความว่า การกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎหมายนั้นบัญญัติให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย
“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน นายทะเบียน คณะบุคคล และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น บรรดาที่กฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจปรับเป็นพินัย หรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามมาตรา ๑๔
มาตรา ๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้*
มาตรา ๕ การปรับเป็นพินัยตามกฎหมายทั้งปวง ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ให้ถือว่าการปรับเป็นพินัยหรือคำสั่งปรับเป็นพินัยเป็นการกระทำทางปกครองหรือคำสั่งทางปกครอง
การปรับเป็นพินัยไม่เป็นโทษอาญา
มาตรา ๖ ในกรณีพระราชบัญญัตินี้มิได้กำหนดไว้เป็นประการอื่น การใดที่กำหนดให้แจ้งยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลใดเป็นการเฉพาะ ถ้าได้แจ้งยื่น หรือส่งหนังสือหรือเอกสารให้บุคคลนั้น ณ ภูมิลำเนาหรือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้ถือว่าได้แจ้ง ยื่น หรือส่งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัตินี้แล้ว
ในกรณีปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าผู้กระทำความผิดทางพินัยไม่สามารถพูดหรือได้ยิน หรือสื่อความหมายได้ ให้แจ้งหนังสือหรือเอกสารในรูปแบบที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยสามารถเข้าใจได้ หรือจะแจ้งให้ผู้กระทำความผิดทางพินัยทราบด้วยการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นก็ได้
ในกระบวนการพิจารณาความผิดทางพินัย หากผู้ถูกกล่าวหา หรือพยานไม่สามารถพูดหรือได้ยินหรือสื่อความหมายได้ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานอัยการ หรือศาล จัดหาล่ามภาษามือให้ หรือจัดให้ถาม ตอบ หรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่นที่เห็นสมควร
มาตรา ๗ ผู้ใดกระทำความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยตามจำนวนเงินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลกำหนดตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินจำนวนสูงสุดที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยนั้นบัญญัติไว้ เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๘ ให้นำบทบัญญัติในภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป เฉพาะหมวด ๒ การใช้กฎหมายอาญา หมวด ๔ ความรับผิดในทางอาญา หมวด ๕ การพยายามกระทำความผิด และหมวด ๖ ตัวการและผู้สนับสนุน แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่การปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัตินี้ด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่พระราชบัญญัตินี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะวางระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ ระเบียบดังกล่าวเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๙ ในการกำหนดค่าปรับเป็นพินัยให้พิจารณาให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้
(๑) ระดับความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ชุมชนหรือสังคมจากการกระทำความผิดทางพินัย และพฤติการณ์อื่นอันเกี่ยวกับสภาพความผิดทางพินัย
(๒) ความรู้ผิดชอบ อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม การกระทำความผิดซ้า และสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดทางพินัย
(๓) ผลประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยหรือบุคคลอื่นได้รับจากการกระทำความผิดทางพินัย
(๔) สถานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดทางพินัยในการชำระค่าปรับเป็นพินัย ถ้าผู้กระทำความผิดทางพินัยร้องขอ และเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดไม่อาจชำระค่าปรับในคราวเดียวได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลจะให้ผ่อนชำระก็ได้ และในกรณีเช่นนั้นหากผู้กระทำความผิดทางพินัยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้การผ่อนชำระเป็นอันยกเลิกและผู้กระทำความผิดต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยที่ยังค้างชำระอยู่ให้ครบถ้วนภายในเวลาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือศาลกำหนด หากไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๒๓ หรือมาตรา ๓๐ แล้วแต่กรณี
รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยจะวางระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าปรับเป็นพินัยตามวรรคหนึ่งและการผ่อนชำระตามวรรคสองเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัตินี้และระเบียบของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๘ วรรคสอง ก็ได้
มาตรา ๑๐ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยผู้ใดเป็นบุคคลธรรมดา และกระทำความผิดทางพินัยเพราะเหตุแห่งความยากจนเหลือทนทานหรือเพราะความจำเป็นอย่างแสนสาหัส ในการดำรงชีวิต ผู้นั้นอาจยื่นคำร้องเพื่อให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยได้
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยผู้ใดเป็นบุคคลธรรมดา และไม่มีเงินชำระค่าปรับเป็นพินัย ผู้นั้นอาจยื่นคำร้องโดยแสดงเหตุผลอันสมควรเพื่อขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยได้
การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้สั่งปรับเป็นพินัย และผู้นั้นไม่โต้แย้งคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อพิจารณามีคำสั่งต่อไป ถ้าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล การยื่นคำร้องให้ยื่นต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น ในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้นั้นกระทำความผิดทางพินัยเพราะเหตุแห่งความยากจนเหลือทนทานหรือเพราะความจำเป็นอย่างแสนสาหัสในการดำรงชีวิต ศาลจะกำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือจะว่ากล่าวตักเตือนโดยไม่ปรับเป็นพินัย หรือหากผู้นั้นยินยอม จะมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยก็ได้ หรือในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้นั้นไม่มีเงินชำระค่าปรับ จะมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยก็ได้ หากผู้นั้นยินยอม
ในกรณีที่ความปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ามีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง และผู้กระทำความผิดทางพินัยยินยอม ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งตามวรรคสาม
ในกรณีที่ความปรากฏต่อศาลในขณะที่พิพากษาว่ามีกรณีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ศาลมีอำนาจสั่งตามวรรคสามได้แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้ยื่นคำร้องก็ตาม
ให้นำความในมาตรา ๓๐/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับแก่การสั่งของศาลตามมาตรานี้ด้วยโดยอนุโลม
หากผู้กระทำความผิดทางพินัยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขที่ศาลกำหนดในการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ ศาลจะเพิกถอนคำสั่ง และออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชำระค่าปรับเป็นพินัยก็ได้ โดยให้หักจำนวนวันที่ทำงานมาแล้วออกจากค่าปรับเป็นพินัย
คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
มาตรา ๑๑ ในคดีความผิดทางพินัย ถ้ามิได้มีคำสั่งปรับเป็นพินัยหรือฟ้องภายในกำหนดสองปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ เว้นแต่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๑๒ เมื่อได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาอันเป็นที่สุดให้ผู้ใดชำระค่าปรับเป็นพินัย ถ้าผู้นั้นมิได้ชำระหรือชำระค่าปรับเป็นพินัยแล้วแต่ยังไม่ครบถ้วน และเกินห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาดังกล่าว จะบังคับตามคำสั่งหรือคำพิพากษาต่อผู้นั้นมิได้
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่การขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องที่ถูกยึดหรืออายัดไว้ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๑๓ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้สั่งปรับเป็นพินัยรายงานการสั่งปรับเป็นพินัยให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดทราบ และให้หน่วยงานของรัฐจัดท าสรุปผลการปรับเป็นพินัยของหน่วยงานนั้นแล้วเปิดเผยผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ประชาชนทราบเป็นประจำทุกปี
มาตรา ๑๔ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจะมีอำนาจปรับเป็นพินัยตามกฎหมายใด ให้เป็นไปตามที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยนั้นบัญญัติไว้ ในกรณีที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยมิได้บัญญัติไว้ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นประกาศกำหนด
ในการกำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นใดที่มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗ วรรคสาม และถ้าค่าปรับเป็นพินัยที่กฎหมายบัญญัติไว้มีอัตราอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท จะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยก็ได้ แต่ถ้าค่าปรับเป็นพินัยที่กฎหมายบัญญัติไว้มีอัตราอย่างสูงเกินหนึ่งหมื่นบาท ต้องกำหนดให้การปรับเป็นพินัยกระทำเป็นองค์คณะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่น้อยกว่าสามคน
มาตรา ๑๕ การกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดทางพินัยหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่กำหนดค่าปรับเป็นพินัยสูงสุดในการปรับผู้กระทำความผิดทางพินัย
ก่อนที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยจะชำระค่าปรับเป็นพินัย หากความปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดทางพินัยตามกฎหมายอื่นที่กำหนดค่าปรับเป็นพินัยสูงกว่าด้วย ให้ระงับการรับชำระค่าปรับเป็นพินัยและส่งสำนวนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจปรับเป็นพินัยสำหรับความผิดที่กฎหมายกำหนดค่าปรับเป็นพินัยสูงกว่า เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่งต่อไป
ในกรณีที่ได้มีคำสั่งปรับเป็นพินัยและชำระค่าปรับไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในความผิดทางพินัยบทใดบทหนึ่งแล้วไม่ว่าจะเป็นบทที่กำหนดค่าปรับเป็นพินัยสูงสุดหรือไม่ ให้ความผิดทางพินัยสำหรับการกระทำความผิดในบทอื่นเป็นอันยุติ
มาตรา ๑๖ การกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นทั้งความผิดทางพินัยและความผิดอาญา ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าความผิดอาญานั้นไม่อาจเปรียบเทียบได้ ให้ระงับการดำเนินการปรับเป็นพินัย และแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป
(๒) ในกรณีตาม (๑) ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ปรับเป็นพินัยไปก่อนแล้ว การปรับเป็นพินัยดังกล่าวไม่เป็นการตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่จะดำเนินคดีอาญา และในกรณีที่ศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษอาญาแก่ผู้กระทำความผิด ให้ความผิดทางพินัยเป็นอันยุติและให้ศาลในคดีอาญาสั่งคืนค่าปรับเป็นพินัยที่ได้ชำระแล้วให้แก่ผู้กระทำความผิด ในกรณีที่ศาลในคดีอาญาพิพากษาลงโทษปรับไม่ว่าจะลงโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้ศาลในคดีอาญาสั่งให้นำค่าปรับเป็นพินัยที่ชำระแล้วมาหักกลบกับโทษปรับ หากยังมีจำนวนเงินค่าปรับเป็นพินัยที่ชำระแล้วเหลืออยู่ ให้ศาลในคดีอาญาสั่งให้คืนเงินที่เหลือนั้นให้แก่ผู้กระทำความผิดด้วย
(๓) ถ้าความผิดอาญานั้นเปรียบเทียบได้ และผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับเป็นพินัยหรือทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยตามคำสั่งของศาลแล้ว ให้คดีอาญานั้นเป็นอันเลิกกัน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของผู้กระทำความผิดนั้น
(๔) ถ้าความผิดอาญานั้นเปรียบเทียบได้ และได้มีการชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้ว ให้ความผิดทางพินัยนั้นเป็นอันยุติ
มาตรา ๑๗ ผู้ใดกระทำความผิดทางพินัยอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ปรับเป็นพินัยผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
ภายใต้บังคับวรรคสาม ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดำเนินการปรับเป็นพินัย และความผิดทางพินัยตามวรรคหนึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างหน่วยงานกัน ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปรับเป็นพินัยในความผิดที่อยู่ในอำนาจของตน และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจพิจารณาในความผิดทางพินัยอื่นทราบเพื่อดำเนินการต่อไปด้วย
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการปรับเป็นพินัยตามวรรคหนึ่ง นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะวางระเบียบกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันหรือทำแทนกันในการดำเนินการปรับเป็นพินัยก็ได้ ระเบียบดังกล่าวเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้