JURIST 101
มาตรา ๑๘ เมื่อปรากฏต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าผู้ใดกระทำความผิดอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และบางกรรมเป็นความผิดทางพินัย บางกรรมเป็นความผิดอาญา ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปรับเป็นพินัยในกรรมที่เป็นความผิดทางพินัย และแจ้งให้พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินคดีอาญาสำหรับกรรมที่เป็นความผิดอาญาต่อไป
ในการสืบสวนและสอบสวนการกระทำความผิดอาญา หากพบว่ามีการกระทำความผิดทางพินัยรวมอยู่ด้วย ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการปรับเป็นพินัย
มาตรา ๑๙ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือมีการกล่าวหาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพบเห็นว่ามีการกระทำความผิดทางพินัยไม่ว่าความผิดนั้นจะเกิดขึ้นในท้องที่ใด ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหานั้นตามสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง*
มาตรา ๒๐ เมื่อดำเนินการตามมาตรา ๑๙ แล้ว และเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพยานหลักฐานเพียงพอว่าผู้ใดกระทำความผิดทางพินัย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งปรับเป็นพินัยและส่งคำสั่งให้ผู้นั้นทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของผู้ถูกกล่าวหาหรือตามที่ได้แจ้งไว้ต่อหน่วยงานของรัฐ และให้ถือว่าผู้นั้นได้รับแจ้งตั้งแต่วันครบสิบห้าวันนับแต่วันที่ปรากฏในทะเบียนตอบรับ
มาตรา ๒๑ คำสั่งปรับเป็นพินัยตามมาตรา ๒๐ ให้ทำเป็นหนังสือโดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
(๑) ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดทางพินัย
(๒) อัตราค่าปรับเป็นพินัยที่กฎหมายบัญญัติ และจำนวนค่าปรับเป็นพินัยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกำหนดให้ต้องชำระ
(๓) ระยะเวลาที่ต้องชำระซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน แต่ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
(๔) กระบวนการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องดำเนินการต่อไป ถ้าผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธข้อกล่าวหาหรือไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในระยะเวลาที่กำหนด
(๕) สิทธิในการขอผ่อนชำระตามมาตรา ๙ วรรคสอง หรือการยื่นคำร้องขอต่อศาลตามมาตรา ๑๐
(๖) รายละเอียดอื่นใดที่เห็นสมควรอันจะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจสภาพแห่งการกระทำความผิดหรือที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกกล่าวหา
มาตรา ๒๒ ความในมาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ ไม่ใช้บังคับแก่การดำเนินการเกี่ยวกับความผิดทางพินัยที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยได้บัญญัติวิธีดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะหรือแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว
มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๒๐ ปฏิเสธข้อกล่าวหา หรือไม่ชำระค่าปรับเป็นพินัยภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐาน และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยได้บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลได้เอง เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจดำเนินการฟ้องคดีโดยไม่ต้องส่งให้พนักงานอัยการ
มาตรา ๒๔ ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาพบการกระทำความผิดทางพินัย ให้มีหน้าที่แจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบกฎหมายนั้น ๆ เพื่อพิจารณาดำเนินการปรับเป็นพินัยต่อไป เว้นแต่เป็นความผิดทางพินัยที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีเช่นนั้นให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
มาตรา ๒๕ เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนคดีความผิดทางพินัยจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากพนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ดำเนินการเพื่อฟ้องคดีต่อศาล โดยจะมีหรือไม่มีตัวผู้ถูกกล่าวหาไปศาลก็ได้
ในกรณีพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ให้แจ้งหัวหน้าหน่วยงานของรัฐทราบพร้อมทั้งเหตุผล หากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ทำความเห็นแย้งเสนอไปยังผู้ดำรงตำแหน่งเหนือพนักงานอัยการที่มีคำสั่งเพื่อชี้ขาด เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้วให้พนักงานอัยการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเป็นหนังสือด้วย
ในการพิจารณาสำนวน พนักงานอัยการมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม รวมทั้งมีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำได้ตามที่เห็นสมควร หรือจะสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการก็ได้
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการตามพระราชบัญญัตินี้ และการกำหนดผู้มีอำนาจชี้ขาดความเห็นแย้ง ให้อัยการสูงสุดออกระเบียบให้พนักงานอัยการปฏิบัติได้ และเพื่อประโยชน์ในการประสานและร่วมมือกันในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนรวมทั้งสอดคล้องกับเขตอำนาจของพนักงานอัยการ อัยการสูงสุดจะมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐทราบถึงแนวปฏิบัติในการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการในแต่ละท้องที่ก็ได้
มาตรา ๒๖ ในการพิจารณาสำนวนคดีความผิดทางพินัย หากพนักงานอัยการเห็นว่าเป็นความผิดทางอาญาหรือมีการกระทำความผิดทางอาญารวมอยู่ด้วย ให้พนักงานอัยการแจ้งให้พนักงานสอบสวนเพื่อพิจารณาดำเนินคดีอาญาต่อไป
ในการพิจารณาสำนวนคดีความผิดทางอาญา หากพนักงานอัยการเห็นว่าเป็นความผิดทางพินัยหรือมีการกระทำความผิดทางพินัยรวมอยู่ด้วย ให้พนักงานอัยการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการปรับเป็นพินัยต่อไป
มาตรา ๒๗ ถ้าผู้กระทำความผิดทางพินัยชำระค่าปรับเป็นพินัยครบถ้วนตามจำนวนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกำหนดก่อนฟ้องคดีต่อศาล ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ยุติการดำเนินการฟ้องคดี หรือถ้าได้มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ก่อนศาลมีคำพิพากษา ให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี
มาตรา ๒๘ ให้ศาลแขวง ศาลจังหวัด ศาลอาญาที่มีเขตอำนาจ หรือศาลชำนัญพิเศษ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดทางพินัย
วิธีพิจารณาคดีความผิดทางพินัยให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
ข้อบังคับตามวรรคสองต้องคำนึงถึงความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องจนเกินสมควร และจะกำหนดให้ศาลพิจารณาลับหลังจำเลยก็ได้ แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด จำเลยมีสิทธิแต่งตั้งทนายความหรือบุคคลอื่นซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับให้มาต่อสู้คดีแทนได้ โดยมิให้ถือว่าเป็นการพิจารณาลับหลังจำเลย และในการส่งเอกสารให้กำหนดให้สามารถส่งทางอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นที่เหมาะสมได้ด้วย ในกรณีสมควร จะกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีไว้ด้วยก็ได้ ข้อบังคับดังกล่าวเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา ๒๙ เมื่อความผิดทางพินัยเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ฟ้องที่ศาลนั้น แต่ถ้าความผิดทางพินัยเกิดขึ้นในหลายท้องที่ ให้ฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งได้
ในกรณีที่ไม่ปรากฏชัดว่าความผิดทางพินัยเกิดขึ้นในท้องที่ใด ให้ฟ้องต่อศาลที่ผู้กระทำความผิดมีที่อยู่ แต่ถ้าไม่ทราบที่อยู่ของผู้กระทำความผิด ให้ถือที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หากมีผู้กระทำความผิดหลายคน ให้ฟ้องต่อศาลที่ผู้กระทำความผิดคนใดคนหนึ่งมีที่อยู่
มาตรา ๓๐ ผู้ใดต้องคำพิพากษาให้ชำระค่าปรับเป็นพินัย ไม่ชำระค่าปรับภายในเวลาที่ศาลกำหนด ให้ศาลมีอำนาจออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชำระค่าปรับเป็นพินัย
มาตรา ๓๑ ให้นำความในมาตรา ๒๙/๑ วรรคสองและวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับแก่การบังคับคดีตามคำสั่งศาลตามมาตรา ๑๐ และมาตรา ๓๐ ด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๓๒ ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลในปัญหาข้อเท็จจริงและจำนวนค่าปรับเป็นพินัย
ผู้กระทำความผิดทางพินัยมีสิทธิอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับที่ออกตามมาตรา ๒๘ เงื่อนไขดังกล่าวต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อผู้อุทธรณ์และสังคมโดยรวมในการรับภาระค่าใช้จ่ายประกอบกัน
คำพิพากษาของศาลชั้นอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
มาตรา ๓๓ คดีความผิดทางพินัยเป็นอันยุติ ด้วยเหตุดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อมีการชำระค่าปรับเป็นพินัยหรือทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยครบถ้วนแล้ว
(๒) โดยความตายของผู้กระทำความผิดทางพินัย
(๓) เมื่อมีการเปรียบเทียบความผิดอาญาตามมาตรา ๑๖ (๔)
(๔) เมื่อคดีขาดอายุความตามมาตรา ๑๑ หรือพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๒ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๓๔ ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐบันทึกการกระทำความผิดทางพินัยของบุคคลใดรวมไว้ในบันทึกประวัติอาชญากรรม หรือในฐานะเป็นประวัติอาชญากรรม
มาตรา ๓๕ เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการชำระค่าปรับเป็นพินัย จะกำหนดให้ชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงก็ได้*
มาตรา ๓๖ ค่าปรับเป็นพินัยให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เว้นแต่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยหรือกฎหมายอื่นจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๓๗ เมื่อพระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ผู้มีหน้าที่และอำนาจในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศตามมาตรา ๘ วรรคสอง มาตรา ๙ วรรคสาม มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๗ วรรคสาม มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๕ วรรคสี่ มาตรา ๒๘ วรรคสอง และมาตรา ๓๕ ดำเนินการออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนวันพ้นกำหนดสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศดังกล่าวต้องไม่ใช้บังคับก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ